ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า

📢ประเพณีกำฟ้า
🏞เป็นประเพณีของชาวไทพวนในต่างจังหวัด ที่มีชาวพวนอาศัยอยู่ได้ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ “กำ” ในภาษาไทพวน หมายถึง การนับถือและสักการะบูชา ดังนั้น กำฟ้า จึงหมายถึงประเพณีนับถือ สักการะบูชาฟ้า เนื่องจากชาวพวนเป็นกลุ่มชนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ในสมัยดั้งเดิมการทำนาต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ชาวนา ในสมัยนั้นจึงมีการเกรงกลัวฟ้ามาก ไม่กล้าที่จะทำอะไรให้ฟ้าพิโรธ ถ้าฟ้าพิโรธย่อมหมายถึง ความแห้งแล้ง อดยาก หรือฟ้าอาจผ่าคนตาย ประชาชนกลัวจะได้รับความทุกข์ยากอันเป็นภัยจากฟ้า จึงมีการเซ่นสรวง สักการะบูชาผีฟ้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเอาใจ มิให้ฟ้าพิโรธ หรืออีกนัยหนึ่ง ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมนั้น รู้สึกสำนึกในบุญคุณของผีฟ้าที่ได้ให้น้ำฝน อันหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตของคน สัตว์ และพืชพรรณต่างๆ จึงได้เกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น เพื่อเป็นการประจบผีฟ้าไม่ให้พิโรธ และเป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพยาดาแห่งท้องฟ้าหรือผีฟ้า 
💬โดยชาวไทพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิด คือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นฝ้าย ตีเหล็ก แม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น ในวันกำฟ้า ชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่น ในตอนกลางคืนและการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน ในวันกำฟ้า จะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ ผู้เฒ่าจะพูดกับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ว่า “สูเอย กำฟ้าเน้อ อยู่สุข ขออย่าแซ (อย่าส่งเสียงดัง อย่าทะเลาะกัน) อยู่ดีมีแฮงเด้อ…เอ้อ (พูดเอง เออเอง)”
💬บางประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินสยาม มีโอกาสให้เจ้าชมพูยกทัพไปตีร่วมกับเจ้าเวียงจันทน์ ดีได้สำเร็จ ต่อมาเจ้าชมพูแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วยให้เวียงจันทน์ และหลวงพระบางเหมือนเช่นเคย เจ้านนท์แห่งเวียงจันทน์โกรธมาก จึงส่งให้แม่ทัพชื่อเขียวไปปราบเมืองพวน เจ้าชมพูแพ้ถูกจับได้ และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยหอก ขณะที่ทำการประหารนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกหอกหักสะบั้น เจ้านนท์เห็นว่า “เจ้าชมพู” เป็นผู้ที่มีบุญบารมี จึงสั่งให้ปล่อยกลับไปครองเมืองพวนดังเดิม ด้วยเหตุนี้ชาวไทยพวนจึงเห็นความสำคัญของฟ้า จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
💬ประเพณีกำฟ้าเป็นมรดกแห่งสังคม ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยพวนที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าแห่งความกตัญญูกตเวที การสร้างขวัญกำลังใจ ความสมานสามัคคีในหมู่คณะให้มีความเชื่อถือศรัทธาในพิธีกรรมบูชาฟ้า และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวไทพวน
💬ประเพณีกำฟ้า ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวบ้านพวนทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ละท้องที่จะกำหนด วัน เวลา คาดเคลื่อนกันไปบ้างในห้วงเวลาของเดือนอ้าย ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ขึ้น 13 ค่ำ และเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ทั้งนี้เป็นการตกลงของชาวพวนในแต่ละท้องที่ เดิมทีเดียวในหมู่คนพวนโดยทั่วไปจะถือเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ให้เป็นวันเริ่มกำฟ้า แต่การยึดถือตามแนวนี้มักเกิดปัญหาในเรื่องข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอว่า คนนั้นได้ยินคนนี้ไม่ได้ยิน เป็นที่รำคาญใจ การที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 นี้ ถือกันว่า ฟ้าเปิดประตูน้ำโดยมากกวานบ้าน (หัวหน้าหมู่บ้าน) จะถือเอาการฟังเสียงฟ้าของคนหูตึงในหมู่บ้านเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นเสียงฟ้าร้องที่ดังจริง ๆ จนผู้คนสามารถได้ยินกันอย่างทั่วถึง
กิจกรรมที่ชาวพวนถือปฏิบัติกันในระหว่างกำฟ้ามี 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 งดเว้นจากการงานที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำทั้งหมด
ประการที่ 2 ทำบุญใส่บาตร
ประการที่ 3 ประกอบพิธี ตั้งบายศรีบูชาฟ้าและประกาศขอพรจากเทพยาดาที่รักษาท้องฟ้า หรือผีฟ้า
💬ตามประเพณีนั้น “วันสุกดิบ” อันเป็นวันเตรียมงานตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 บรรดาแม่บ้านช่วยกันทำกับข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหลาม ข้าวจี่ เพื่อนำไปเซ่นผีฟ้า การเผาข้าวหลามทิพย์จะทำบริเวณลานวัด เวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น พระสงฆ์ทำพิธีเจริญพุทธมนต์เย็น ในปะรำพิธีที่จัดเตรียมไว้ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่มีความรู้ด้านการประกอบพิธี จะทำหน้าที่พราหมณ์สวดเบิกบายศรี บูชาเทพยาดา ผีฟ้าแล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องเซ่นสังเวย มารับรู้พิธีกรรม บางท้องที่มีการรำขอพรจากฟ้าเสร็จพิธีแล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ตกกลางคืนก่อนเข้านอน คนแก่คนเฒ่าจะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟแล้วกล่าวคำพูดอันเป็นมงคลในทำนองที่ให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน ช่วยมาปกป้องรักษาคนในครอบครัวให้มีความอยู่ดีมีสุข ให้ข้าวปลาอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์
💬เช้าขึ้นเป็นวันกำฟ้า ทุกคนในบ้านรีบตื่นแต่เข้าตรู่ แม่บ้านเตรียมอาหารคาวหวานใส่สำรับไปถวายพระที่วัด ใส่บาตรพระด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะสังสรรค์ด้วยการรับประทานอาหารร่วมกัน ตกเวลาบ่ายไปจนเย็นและกลางคืนมีการละเล่น รื่นเริง เช่น แตะหม่าเบี้ย เส็งคลอง เซิ้งนางด้ง เซิ้งนางกวัก เซิ้งนางสะ ฯลฯ สำหรับการเซิ้งต่าง ๆ เป็นการเล่นที่เกี่ยวกับการทรงเจ้าเข้าผี ประกอบการร้องอย่างสนุกสนานในวันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงานหนึ่งวัน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน”เหล็กบ่เฮ้อต้องฆ้องบ่เฮ้อตี” (เฮ้อ = ให้, ต้อง = จับ) คงเป็นการป้องกหันมิให้ผู้คนถูกฟ้าผ่าในวันที่มีฟ้าคะนองนั่นเองในวันนี้ไม่มีการใช้งานสัตว์เลี้ยง ห้ามส่งเสียงอึกทึกครึกโครม ผู้ใดฝ่าฝืนเชื่อกันว่าจะถูกฟ้าลงโทษ หลังจากวันกำฟ้า (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) ไป 7 วัน จะมีการกำฟ้าอีกครึ่งวัน และต่อจากครึ่งวันไปอีก 5 วัน จึงถือว่า “กำฟ้าแล้ว” (แล้ว = เสร็จ) ในวันนี้ ชาวบ้านจะจัดอาหารคาวหวานไปถวายพระอีกครั้งหลังจากนั้นนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้น ไปทำพิธีที่ลำน้ำ เรียกว่า “การเสียแล้ง” โดยการทิ้งดุ้นฟืนที่ติดไฟนั้นให้ไหลไปตามกระแสน้ำ เป็นการบูชาและระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยาดาผีฟ้าว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *