ภาษาไทยพวน

ภาษาไทยพวน

📣ภาษาไทยพวน 
✍️ภาษาไทยพวนเป็นภาษาหนึ่งในเจ็ดกลุ่มใหญ่และได้สืบทอดมาจากยูนาน-เชียงแสน ราว 1000 ปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้แผนที่ประเทศไทย จากแผนที่ภาษาในประเทศไทย ปรากฏว่า มีผู้พูดภาษาไทยพวนในประเทศไทยตามท้องถิ่นต่าง ๆ ดังนี้ คือ ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร แพร่ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย หนองคาย และอุดรธานี
💭ภาษาไทยพวนเป็นภาษาถิ่นซึ่งแปลกกว่าภาษาอื่นและยากแก่การศึกษาอย่างมากเพราะด้วยลีลาหรือสำเนียงของเสียงที่เปล่งออกของแต่ละคนที่เป็นต้นเสียง แต่เจ้าของภาษานั้นสามารถจับใจความและฟังการขึ้นลงของเสียงได้เป็นอย่างดีจึงสามารถสื่อสารและเข้าใจกันได้ง่าย
💭เสียงพยัญชนะของภาษาไทยพวน จะมีหน่วยเสียงทั้งหมด 20 หน่วยเสียง คือมีพยัญชนะที่แตกต่างจากเสียงพยัญชนะของภาษาไทย 3 หน่วยเสียงเท่ากัน ภาษาไทยพวนจะไม่มีเสียง ช, ฉ จะออกเสียงเป็น ซ, ส แทน ไม่มีเสียง ร จะออกเสียงเป็น ฮ, ล แทน และเสียง ญ นาสิก เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงใช้เสียงพยัญชนะ ย อยู่
💭เสียงสระของภาษาไทยพวน จะมีเสียงสระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 6 เสียง แต่ภาษาไทยจะมีสระประสมเพียง 5 เสียง (ไม่มีสระเอือะ) และที่น่าสนใจมากของภาษาไทยพวนก็คือ จะออกเสียงสระไอ ต่างไปจากสระไอที่ภาษาไทยใช้ สระไอของภาษาไทยพวนจะออกเสียงสระเออ
💭เสียงสะกดและพยัญชนะควบกล้ำ เสียงสะกดที่ใช้แตกต่างจากเสียงสะกดภาษาไทยคือ เสียง ก (แม่กก) ในคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวของภาษาไทย เช่น ปาก ออก ตาก เปียก เผือก ภาษาไทยพวนจะออกเป็นสระเสียงสั้นและมีเสียงหยุดที่เส้นเสียงคือ ออกเป็น ปะ เอาะ ตะ เปียะ เผือะ และสำหรับเสียงพยัญชนะควบกล้ำ 2 เสียง ได้แก่ คว, กว, เช่น ควาย กวาง
💭เสียงวรรณยุกต์จะมี 6 เสียง มีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
1. คำเป็นที่มีพยัญชนะ ก จ ด ต บ ป อ เป็นพยัญชนะต้นและใช้ไม้โท ภาษาไทยจะเป็นเสียงโท คนไทยพวนจะออกเเป็นเสียงสูง – ขึ้น (คล้ายกับเสียงตรี)
2. เสียงวรรณยุกต์จัตวาของภาษาไทย เมื่อปรากฏอยู่ในพยางค์หน้าของวลีหรือคำประสมของภาษาไทยพวน จะออกเป็นเสียงต่ำคลายเสียงเอก
3. คำตาย สระเสียงสั้น ภาษาไทยพวนจะออกเป็นเสียงสูง-ขึ้น , สูง-ตก ต่างจากภาษาไทย
อักษรไทยพวน แบ่งตามลักษณะดังต่อไปนี้
1. อักษรที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวในศาสนาหรือคัมภีร์อัมศักดิ์ เรียกว่า อักษรธรรม หรือตัวธรรม
2. อักษรไทยน้อย ใช้เขียนเรื่องราวทางโลก เช่น การะเกด สุริวงศ์ และชาวไทยพวนจะนิยมนำเรื่องราวเหล่านี้ที่เขียนด้วยอักษรไทยน้อย มาอ่านในการอยู่เป็นเพื่อนศพ เรียกว่า งันเฮือนดี โดยใส่ทำนองและลีลาที่ไพเราะ น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอักษรทั้ง 2 ชนิดนี้ ผู้เฒ่าส่วนใหญ่ของชาวไทยพวนสามารถอ่านได้เป็นอย่างดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *